โนเกียร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตนำร่องสร้างนักพัฒนาแอพรองรับ 3G

กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2556–โนเกียร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการ My First App
(มาย เฟิร์สต์ แอพ) สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดฝึกอบรม และสร้างแลบปฏิบัติการ เพื่อสร้างนักพัฒนาแอพ
ไทยเลือดใหม่รองรับการเติบโตของระบบนิเวศน์สื่อสารเคลื่อนที่หลังเปิดให้บริการ 3G และการขยายตัวของ
สมาร์ทโฟนบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone 
 
นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนา บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ด้วยประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุค 3G เต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการขยายตัวของการใช้งานอุปกรณ์และระบบสื่อสารเคลื่อนที่ รวมถึงความต้องการด้านแอพพลิเคชั่นเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น แอพเพื่อการสนทนา แอพสังคมออนไลน์แอพด้านการเงินที่ปลอดภัย แอพเพื่อการท่องเที่ยวและร้านอาหาร แอพข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนแอพด้านภาพถ่าย เกมส์ และความบันเทิงต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีแอพบน Windows Phone Store มากกว่า 135,000แอพ และบน Nokia Store อีกกว่า 63,000 แอพ โดยแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดสามารถทำสถิติมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 375,000 ครั้งในเวลาไม่ถึง 2 เดือน”
ด้วยเหตุนี้ โนเกียและมหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ริเริ่มโครงการ My First App เพื่อผลิตนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่รองรับความต้องการด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งจากภาคธุรกิจและผู้บริโภครวมทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดแอพพลิเคชั่นระดับโลกต่อไปในอนาคต
โครงการ My First App มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาไทย มีความเข้าใจในเทคโนโลยี ระบบปฏิบัติการ และหลักการในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรม และลงมือปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากโนเกียมาถ่ายทอดวิทยาการ อาทิ APIs ของแผนที่โนเกีย แอพที่ใช้งานเทคโนโลยี NFC เป็นต้น รวมถึงนักพัฒนาแอพ มืออาชีพที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์จริงในการทำงานและเคล็ดลับในการผลิตแอพคุณภาพเพื่อตอบสนองได้ทั้งผู้ใช้งานในประเทศและทั่วโลก
10 โครงการจากนักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมและนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น จะได้รับการคัดเลือกเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเผยแพร่บน Windows Phone Store เพื่อให้ผู้บริโภคได้ดาวน์โหลดและนำไปใช้งานจริง แอพ จากทีมใดที่มียอดการดาวน์โหลดสูงสุด ผู้พัฒนาจะได้รับโอกาสไปทัศนศึกษาที่ศูนย์พัฒนาและวิจัยของโนเกีย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยสำคัญของโนเกีย
“ยิ่งมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 ในหลากหลายระดับราคา ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสมาร์ทโฟนที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้น และจูงใจให้ผู้ที่มองหาสมาร์ทโฟนเครื่องแรกเพื่อทดลองใช้บริการ 3G ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น  จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างจริงจัง” นายจิรพัฒน์กล่าวเสริม
ด้านผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เกษมสันต์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการเตรียมตัวของมหาวิทยาลัยในการผลิตบุคลากรด้านนักพัฒนา เพื่อตอบรับกระแสการเปิดให้บริการ 3G ว่า “อุตสาหกรรมด้าน Mobile Application ในประเทศไทยกำลังมีอัตราการขยายตัวอยู่ในปริมาณสูงเพื่อตอบรับการให้บริการ 3G ทำให้เกิดความต้องการบุคลากรด้านนักพัฒนาแอพมากยิ่งขึ้น ทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลิตบัณฑิตพร้อมใช้ทางด้าน Mobile Application เพื่อตอบสนองการพัฒนาของประเทศ และด้วยปรัชญาของคณะฯที่ “มุ่งมั่นสร้างบัณฑิตไอทีมืออาชีพสู่สังคม”  เราจึงมุ่งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตร ลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง และร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางด้านไอที เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปฏิบัติจริง  และสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้าน Mobile Application ต่อไป”
โครงการ My First App จะเปิดรับสมัครนักศึกษาเฉพาะมหาวิทยาลัยรังสิตในเดือนเมษายน และจะเริ่มฝึกอบรมในเดือนพฤษภาคม  แอพที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เผยแพร่บน Windows Phone Store เพื่อให้ดาวน์โหลดในเดือนสิงหาคม และประกาศแอพที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในเดือนกันยายน 2556
โนเกียมีแผนขยายโครงการ My First App ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ภายหลังการประเมินผลโครงการ เพื่อร่วมผลิตนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นของไทยให้มากยิ่งขึ้น โนเกียยังตั้งเป้าผลักดันให้เกิดนักพัฒนาเกมส์บนมือถือ ซึ่งเป็นรูปแบบความบันเทิงที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากเข้าถึงง่าย สะดวกและค่าใช้จ่ายไม่สูง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในยุค 3G ได้เป็นอย่างดี
Loading Facebook Comments ...

2 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *